จํานวนผู้เข้าชม

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัฒนธรรมจังหวัดระยอง

ศิลปวัฒนธรรม


หนังใหญ่

หนังใหญ่บ้านดอนก่อนมา เล่นสนุกเฮฮา
กลองปี่พิณพาทย์บรรเลง
ชาวชากใหญ่เล่นกันเอง สดชื่นครื้นเครง
ปู่สี รื่นเริง ฝึกสอน
เล่นเรื่องรามเกียรติ์แต่ก่อน เลือกคัดตัดตอน
ที่เด่นเห็นว่าสมควร
ยุคนี้ที่ชอบเชิญชวน ศิลป์ไทยทั้งมวล
ฟื้นฟูให้เห็นเป็นไทย
เราจึงฝึกหัดจัดไป แสดงถึงไหนไหน
ชล จันทร์ บางแสน ที.วี.
งานฉลองสองร้อยปี กรุงเทพ ฯ ธานี
แสดงให้ชมสมใจ
ข้าขออำนวยอวยพรชัย เอกลักษณ์ไทย
จงได้ยืนยงคงนาน
ทุกท่านเกษมสำราญ โชติช่วงชัชวาล
ณ ถิ่นเมืองทองยิ่งเทอญ

ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่ วัดบ้านดอน

จากการสอบถามพระครูปัญญาวุฒิกร เจ้าอาวาสวัดบ้านดอน และนายสี รื่นเริง ครูหนังใหญ่คนล่าสุด ซึ่งท่านก็เป็นผู้รับช่วงต่อมา ปัจจุบันมีอายุ 103 ปี ชรามากไม่สามารถที่จะออกแสดงได้ ลูกหลานจึงได้รับช่วงกันต่อมา ผู้ที่รับถ่ายทอดก็คือ นายเฉลิม มณีแสง , นายเจิม ขอบอรัญ ซึ่งเป็นผู้พากย์ประจำคณะทั้ง 2 คน ส่วนผู้พากย์คนก่อน ๆ นั้นก็คือปู่ทิม นายสวม ประสิทธิ์แพทย์ , ช่ำ ช่างทอง นายเรือง ซึ่งแสดงร่วมกับนายสี อยู่นานจนชราภาพเสียชีวิต

หนังหญ่ชุดนี้มีอายุประมาณ 200 ปี นำแสดงอยู่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งนิยมแสดงกันทางภาคใต้ แถบจังหวัดพัทลุง ครั้นต่อมาสมัยที่เจ้าคุณเฒ่า พระศรีสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดระยอง (ดูทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดระยองแล้วไม่ระบุ พ.ศ. ที่ท่านดำรงตำแหน่ง) ได้ทราบกิติศัพท์ของหนังใหญ่ชุดนี้ ก็ได้ติดต่อซื้อมาทั้งชุดประมาณ 200 ตัว ได้นำแสดงที่วัดจันทอุดม (วัดก๋ง) ปัจจุบันเป้นที่ตั้งโรงพยาบาลระยอง จากนั้นได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านดอน เพราะเจ้าอาวาสวัดบ้านดอนสมัยนั้นสนใจฝึกผู้แสดงชาวบ้านและชาวบ้านชากใหญ่พร้อมทั้งคณะพากย์ และวงปี่พาทย์สำหรับเล่นกับหนังชุดนี้ไว้เป็นประจำ ปัจจุบัน หนังชุดนี้ก็อยู่ที่วัดบ้านดอนจากตัวเมืองจะไปวัดนี้ไปได้หลายทาง ทางที่ใกล้ที่สุดเข้าทางธนาคารกรุงเทพ จำกัด หรือทางแยกเข้าตลาดเสรี ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

ชื่อตัวหนัง

หนังเฝ้า เป็นหนังภาพเดี่ยว หน้าเสี้ยว พนมมือ
หนังคเนจร (บางทีเรียกหนังเดิน) เป็นหนังภาพเดี่ยวหน้าเสี้ยว ท่าเดิน
หนังง่า เป็นหนังภาพเดี่ยวหน้าเสี้ยว ท่าเหาะ
หนังเมือง อาจเป็นหนังเดี่ยวหรือหลายตัวก็ได้ แต่ต้องประกอบด้วยภาพปราสาทราชวัง
หนังจับ เป็นหนังสองตัวขึ้นไป เป็นท่ารบกัน หรือจับกัน อยู่ในแผ่นหนังผืนเดียว คนเชิดคนเดียว

วิธีการแสดงหนังใหญ่

แสดงกันกลางแจ้งใช้ไม้ไผ่ทั้งลำยกเป็นจอ ซึ่งทำด้วยผ้ามุ้ง ขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร ยาว 9 เมตร จอขอบล่างสูงจากพื้นดิน 1 เมตรเศษ ช่วงใต้จอถึงพื้นดินขึงผ้าทึบ สองข้างจอปักเสาไม้ไผ่ข้างละคู่ แต่ละคู่ห่างกันประมาณเมตรครึ่งทำเป็นราวพิงหนังเว้นทางให้คนเชิดเดินเข้าออกพอสะดวก หน้าจอใช้ไม้ไผ่ปักเป็นราวเตี้ย ๆ สำหรับพิงหนังไหว้ (ไหว้ครู) สูงประมาณ 1 เมตร ยาว 2 เมตร ยอดเสาทุกด้านปักธงแดง หน้าหนังไหว้ตั้งโต๊ะวางเครื่องบูชาครู (มหรสพอื่นที่แสดงร่วมในงาน สมัยก่อนนั้นถือกันมากจะต้องมาร่วมคาระวะครูหนังใหญ่ก่อนเสมอ ถือว่าครูแรง

หลังจอทำเป็นเพิงกันไฟตลอดจอ เรียกว่า “ผ้าคลุมไฟ” ในเพิงนั้นสมัยก่อนตั้งเตาไฟให้สูงกลางจอ ใช้แสดงไต้หรือแสงจากกองไฟ ซึ่งนิยมก่อด้วยกะละมะพร้าวให้ลุกโชนอยู่เสมอในเวลาแสดง เรื่องแสงไฟนี้ได้วิวัฒนาการมาเป็นตะเกียงเจ้าพายุและไฟฟ้าในปัจจุบัน

ด้านหนังเพิงกันไฟใช้ไม้ไผ่ทำราวสำหรับพิงหนังทั้งหมดที่นำไปแสดงโดยจัดเรียงตัวหนังไว้ตามลำดับเรื่องที่จะแสดงในคืนนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น